
ในช่วงที่นี้หลายคนคงยินคำกล่าวถึง Internet of Things หรือ IoT กันบ่อยมากขึ้น หากแปลตรงตัวให้ฟังและเข้าใจง่าย คือ การที่สิ่งต่างๆ สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและทำงานของมันตามที่เราต้องการได้ นักพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์และระบบฝังตัวอาจมองว่าแล้วมันเกี่ยวข้องกับพวกเราอย่างไร หรือมองว่าการเชื่อมต่ออุปกรณ์ของเราเข้ากับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งความจริงนั้นตรงกันข้ามกับความเข้าใจดังกล่าว เนื่องจาก Internet of Things มีพื้นฐานอยู่บนระบบฝังตัวที่เราทำอยู่ตามที่มีคนให้คำจำกัดความไว้ว่า “The Internet of Things it the interconnection of uniquely identifiable embedded computing devices within the existing Internet infrastructure.” แน่นอนว่าต้องมีอินเตอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่ส่วนประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือระบบฝังตัวนั่นเอง
ปัจจุบันมีอุปกรณ์มากมายถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้นักพัฒนาสามารถนำไปใช้ต่อยอดสร้างชิ้นงานเชื่อมต่อเข้ากับ Internet of Things โดยมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไร้สาย (Wireless LAN หรือ Wi-Fi) ได้ แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์สำหรับ Internet of Things บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์กลุ่มนี้ ผู้ผลิตออกแบบและสร้างขึ้นมาให้เราสามารถพัฒนาโปรแกรมลงในไมโครคอนโทรลเลอร์บนบอร์ด ควบคุมอินพุตและเอาต์พุตเชื่อมต่ออุปกรณ์เพื่อตรวจจับหรือแสดงผลได้ตามต้องการ พร้อมใส่อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สาย Wi-Fi มาบนบอร์ดไม่จำเป็นต้องต่อเพิ่มเติมเอง ยกตัวอย่างเช่น Electric Imps, Spark Core, Arduino Yun, Intel Edison, Wireless Router ต่างๆ
กลุ่มที่ 2 โมดูลสื่อสารไร้สาย Internet of Things โมดูลบางตัวที่มีคุณสมบัติสามารถเป็นอุปกรณ์ Internet of Things ได้ ยกตัวอย่างเช่น โมดูล ESP8266 ซึ่งราคาไม่สูง สามารถทำงานได้ในระดับหนึ่ง แม้ปัจจุบันยังมีอยู่ไม่มากและเข้าถึงยาก แต่ในอนาคตอันใกล้คาดว่าจะมีโมดูลแบบนี้ออกมาอีกหลายตัวแน่นอน ซึ่ง ESP8266 สามารถทำงาน Standalone เนื่องจากภายในมีไมโครคอนโทรลเลอร์อยู่ (แต่ไม่สามารถโปรแกรมแบบทั่วไปได้) ต้องพัฒนาเฟิร์มแวร์ให้ทำงานตามความต้องการ กลุ่มนักพัฒนาที่สนใจได้แบ่งปันข้อมูลดังกล่าวไว้ ผู้ใช้อาจดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์ที่มีการทำงานตามที่เราต้องการมาติดตั้งใช้งาน
กลุ่มที่ 3 บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ + โมดูลสื่อสารไร้สาย ทำงานร่วมกันเป็น Internet of Things กลุ่มนี้เป็นการประยุกต์ใช้บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ต่างๆ ที่เราคุ้นเคย ร่วมกับโมดูสื่อสารไร้สายที่มีให้เลือกหลากหลายตามความต้องการ เขียนแอพพลิเคชั่นให้ทำงานในลักษณะคล้ายกับกลุ่มที่ 1 เพียงแต่เราต้องจับคู่เชื่อมต่อบอร์ดกับโมดูลต่างๆ เอง ยกตัวอย่างเช่น การใช้ Arduino ร่วมกับ Wi-Fi Shield หรือ UART Wi-Fi การใช้ Raspberry Pi กับ USB Wi-Fi Dongle เพียงเท่านี้ก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายได้